ในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือน้ำมันเครื่องบิน โดยข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงานรายงานว่ายอดขายน้ำมันเครื่องบินของปี 2020 และ 2021 นั้นลดลงจาก ปี 2019 อย่างมีนัยสำคัญดังแสดงในภาพที่ 1
หลายๆท่านอาจจะมีคำถามสงสัยว่าแล้วโรงกลั่นน้ำมันในไทยมีการปรับตัวยังไงกับอุปทานที่ลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงเวลาที่น้ำมันเครื่องบินไม่เป็นที่ต้องการของตลาด วันนี้เราจะไปหาคำตอบกันครับ
ประเทศไทยนั้นมีโรงกลั่นน้ำมันหลักๆทั้งหมด 6 โรง และมีกำลังการกลั่นรวม 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นอันดับสองในภูมิภาค ASEAN รองจากประเทศสิงกโปร์ โดยน้ำมันดิบส่วนใหญ่นั้นถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยมีสัดส่วนถึง 89% โดยหลักๆคือจากตะวันออกกลางโดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 โดยประมาณ
โดยในน้ำมันดิบนั้นจะมีองค์ประกอบเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์หลายๆชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือน้ำมันเครื่องบิน ไม่ว่าจะกลั่นน้ำมันดิบชนิดไหน ก็จะได้น้ำมันเครื่องบินเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ไม่มากก็น้อยดังแสดงในภาพที่ 3
จากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ไม่ว่าจะเลือกน้ำมันดิบชนิดไหนมาก็ตามโรงกลั่นน้ำมันก็จะยังได้ผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งเป็นน้ำมันเครื่องบิน แต่ในเมื่อความต้องการของตลาดลดลง โรงกลั่นน้ำมันแทบทุกโรงในไทยจึงได้ลดกำลังการผลิตลงโดยปัจจุบันมีกำลังการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 78% เพื่อลดภาวะล้นตลาดของน้ำมันเครื่องบินดังแสดงในภาพที่ 4
อีกวิธีนึงที่มีการนำมาใช้คือการปรับแต่งกระบวนการผลิตของหอกลั่นน้ำมันดิบให้ได้ปริมาณน้ำมันเครื่องบินน้อยลง โดยมีการกระจายสัดส่วนน้ำมันเครื่องบินไปเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินให้มากขึ้น ดังแสดงในภาพที่ 5
นอกเหนือไปจากนั้นยังมีการผสมน้ำมันเครื่องบินที่ได้จากหอกลั่นน้ำมันดิบลงไปในน้ำมันดีเซลให้มากขึ้น โดยคุณภาพผลิตภัณฑ์ทุกชนิดยังได้มาตรฐานที่กำหนดไว้โดยกรมธุรกิจพลังงานอยู่ ซึ่งโดยปกติโรงกลั่นน้ำมันจะพยายามผสมน้ำมันเครื่องบินลงไปในน้ำมันดีเซลจนกระทั่งจุดวาบไฟ (Flash Point) ของน้ำมันดีเซลนั้นมีค่าสูงขึ้นจนใกล้เคียงมาตรฐานปัจจุบันคือ 52 องศาเซลเซียส โดยวิธีการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นกลยุทธ์ตามมาตรฐานของโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยโรงกลั่นน้ำมันบางโรงนั้นสามารถทำได้ดีถึงขนาดที่ไม่มีการผลิตน้ำมันเครื่องบินออกมาเลย เช่น โรงกลั่นของบริษัท PTT Global Chemical เป็นต้น
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจว่าการอัตราการผลิตและบริโภค รวมไปถึงราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร สามารถดูได้เพิ่มเติมตามแหล่งอ้างอิงที่ 3 และ 4 เลยครับ
ABOUT THE AUTHOR
Nattapong Pongboot
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอิสระ ผู้เขียนมีประสบการณ์กว่า 10 ปี ในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี กับบริษัทชั้นน้ำทั้งในไทยและต่างประเทศ และยังเป็นวิทยากรให้กับ http://www.chemengedu.com/
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม