โดย เกรียงไกร มณีอินทร์
HIGHLIGHTS
- การประชุม COP 26 กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่รุนแรงขึ้นและยากต่อการคาดคะเน ได้ส่งผลให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้ง พายุ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปัญหาดังกล่าว ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงมหันตภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้เกิดการประชุมระดับนานาชาติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ แคว้นสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 12 พ.ย. 2564 และได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 โดยมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลักดันให้ยุติหรือการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหิน การประชุมนี้มีจุดประสงค์หลัก คือ การให้แต่ละประเทศเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2050 เพราะเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
แต่ก่อนที่เราจะไปต่อ ผมอยากจะเกริ่นนำเกี่ยวกับที่มาของการประชุมนี้สักนิดนะครับ
ในการประชุม COP21 เมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีส ชาติต่างๆรวม 197 ประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลง 45% (เมื่อเทียบกับระดับปี 2010) ภายในปี 2030 และต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่ออุณหภูมิของโลกจะได้มีโอกาสที่จะเพิ่มอยู่ในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อตกลงปารีสขึ้น โดยเป้าหมายหลักของข้อตกลงดังกล่าว คือ การจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม อีกทั้งพยายามรักษาอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
สำหรับการประชุม COP26 ครั้งนี้ จะมีรายละเอียดดังนี้
COP26 คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
COP ย่อมาจาก “Conference of the Parties” เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา (ยกเว้นปีที่แล้ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19) โดยที่ในการประชุมครั้งนี้ 200 ประเทศมีพันธสัญญาที่จะต้องยื่นแผนการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2030
เป้าหมายของ COP26
จากข้อมูลเว็บไซต์ทางการของ COP26 การประชุมในครั้งนี้ได้วางเป้าหมายที่ COP26 ต้องบรรลุไว้ 4 เป้าหมาย ดังนี้
- ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิทั้งโลกเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ และรักษาระดับการเพิ่มอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศต่างๆจะต้องนำเสนอแผนการที่จะช่วยยกเลิกการใช้ถ่านหิน ควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า เร่งให้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
- ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ รวมถึงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ
- ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยที่ในปี 2020 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะมอบความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศที่ยากจนจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ดังนั้นประเทศเหล่านี้จะต้องทำตามคำมั่นสัญญาดังกล่าว เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ตาม 2 เป้าหมายข้างต้น
- ทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะเร่งการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของภาครัฐบาล ธุรกิจ และประชาสังคม
แม้ข้อตกลงนี้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการกำหนดแนวทางและเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิในช่วง 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ มีการตกลงอะไรเพิ่มเติมกันอีกบ้าง ?
นอกจากร่างข้อตกลงที่ถือเป็นผลลัพธ์สำคัญที่สุดของการประชุม COP26 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผู้แทนจากหลายประเทศและจากทุกภาคส่วนมารวมตัวกัน ยังมีการประกาศหลายเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้
- ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-จีนในเรื่องที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยประเด็นที่เห็นชอบร่วมกัน เช่น การปล่อยก๊าซมีเทน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยคาร์บอนลงจนเหลือสุทธิศูนย์
- ในที่ประชุม COP26 ผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศ เห็นชอบกับโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030
- ผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีพื้นที่ป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของป่าไม้โลก รับปากว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ดังนั้นการยุติการตัดไม้ทำลายป่าตลอดจนการปลูกป่า จึงเป็นวิธีการสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
- มากกว่า 40 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่อย่างโปแลนด์ เวียดนาม และชิลี เห็นชอบที่จะทะยอยเลิกใช้ถ่านหิน
- มาตรการทางการเงิน โดยสถาบันการเงินเห็นชอบที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน และปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ผลการประชุมนี้มีสิ่งที่ท้าทายสุดคือ ประเทศต่าง ๆ จะทำตามสัญญาได้จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้ว การให้คำมั่นสัญญาที่เกิดขึ้นในการประชุม COP เป็นเรื่องของความสมัครใจและการกำกับดูแลตัวเอง ดังนั้น ความสำคัญของการประชุมอย่าง COP26 จึงเป็นได้เพียงการพยายามส่งเสริมให้ทุกประเทศเข้าร่วมมือต่อไป
สำหรับประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในผู้นำสูงสุดจากกว่า 120 ประเทศที่เดินทางไปร่วมการประชุมนี้ และได้แถลงการณ์เพื่อยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยตั้งเป้าเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ให้ได้ภายในปี 2050 ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะทำให้ได้ภายในปี 2065
ABOUT THE AUTHOR
รศ. ดร. เกรียงไกร มณีอินทร์
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย