โดย เกรียงไกร มณีอินทร์
HIGHLIGHTS
- แหล่งก๊าซเรือนกระจก
- แหล่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
จากเนื้อหาในบทก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก ทำให้เราตระหนักได้ว่าก๊าซดังกล่าวมีประโยชน์และจำเป็นต่อชั้นบรรยากาศของเราตราบเท่าที่มีปริมาณพอเหมาะ ก๊าซเรือนกระจกนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ทำขึ้น ก๊าซที่เป็นองค์ประกอบหลัก 3 ลำดับแรกในเชิงปริมาณ CO2 สมมูล ได้แก่
- ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เกิดจาก การเผาไหม้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ การหุงต้ม การเกษตร การเลี้ยงปศุสัตว์ การทำฟาร์ม
- ก๊าซมีเทน (CH4) เกิดจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจนต่ำ หรือไร้ออกซิเจน เช่น การย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์ และของเสียจากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ในหลายกรณีก็เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเลี้ยงปศุสัตว์ มูลสัตว์ การเกษตร การบำบัดน้ำเสีย และอุตสาหกรรมอื่น ๆ
- ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ในธรรมชาติเกิดจากกระบวนการย่อยสลายสารประกอบไนโตรเจนของแบคทีเรียในดิน นอกจากนี้ ก๊าซดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากผลพลอยได้จากการเลี้ยงปศุสัตว์ มูลสัตว์ และการเกษตร
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในโลกของเรากำลังประสบปัญหาจากการที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไปจนใกล้จะเกินขีดที่จะฟื้นกลับได้ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ หลายหน่วยงานได้เก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ เช่น สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (U.S. Environmental Protection Agency หรือ US. EPA) ได้เก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 จากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยแยกตามชนิดขององค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจกและตามรายภาคเศรษฐกิจดังแสดงในรูปที่ 1 จากรูปจะเห็นได้ว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ที่ปล่อยออกมีมากที่สุดคือ ประมาณ 80 % โดยสัดส่วนดังกล่าวนี้จะมีลักษณะใกล้เคียงกันทั่วโลก ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสนใจและมุ่งเน้นที่จะลดการปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่บรรยากาศให้เหลือน้อยที่สุด อนึ่ง ในภาพรวมแล้ว แหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในเชิงปริมาณ CO2 สมมูลมาจากการขนส่ง ซึ่งคิดเป็น 29% ตามด้วยการผลิตไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็น 25% ของการปล่อยทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ถ้าเราพิจารณาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก จะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้า จะเป็นแหล่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด ดังแสดงในรูปที่ 2 ซึ่งแสดงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทั่วโลกในปี 2019 โดยแยกตามรายภาคเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ภาคพลังงานจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 40 % รองลงมาจะเป็นภาคการขนส่งและภาค อุตสาหกรรม อย่างละ 23% ในทำนองเดียวกัน องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ก็ได้รวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกไว้
ในกรณีของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ในปี 2559 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 257.9 ล้านตัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย ปริมาณดังกล่าวนี้ เกิดจากการปล่อยจากแหล่งใดกันบ้าง มาดูกันนะครับ
ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งต่างๆดังนี้
- ภาคการผลิตไฟฟ้า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากถึง 99.3 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 38% นับว่าเป็นปริมาณที่มากที่สุดเลยครับ เพราะเกิดจากการใช้พลังงานต่าง ๆ นั่นเอง ทั้ง ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการใช้พลังงานฟอสซิลนั่นเอง
- ภาคการขนส่ง มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 71.9 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 28%
- ภาคอุตสาหกรรม มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 66.9 ล้านตัน ในสัดส่วน 26% ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการในการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมถลุงโลหะ อุตสาหกรรมกระดาษ เป็นต้น
- ภาคการเกษตร ปริมาณการปล่อยคิดเป็นจำนวน 19.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็น 8% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด
จากข้อมูลข้างต้นทั้งในและต่างประเทศ เราคงเห็นแล้วนะครับว่า ทุกๆ ภาคส่วนรวมถึงเราทุกคนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเราทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า และใช้น้ำมัน รวมถึงการก่อให้เกิดของเสียและขยะต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ถ้าหากเราทุกคนช่วยกันประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และไม่ให้เกิดของเสียหรือขยะโดยไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะช่วยโลกและสภาพแวดล้อมของเราได้ครับ
ABOUT THE AUTHOR
รศ. ดร. เกรียงไกร มณีอินทร์
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย