เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 เวลา 13:30-16:30 น. ณ ห้อง กรุงเทพ 2 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (The Thai Institute of Chemical Engineering and Applied Chemistry, TIChE) ร่วมกับ บริษัท PTT Global Chemical จำกัด (มหาชน) (GC) และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (SCGCh) ได้จัดงาน The 1st TIChE Open Innovation Idea Challenge เพื่อประกวดไอเดียเปลี่ยนโลกภายใต้แนวคิด “National Decarbonization” เฟ้นหาสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ สร้างโอกาสให้กับนักวิจัยในภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และบริษัทสตาร์ทอัพ และผลักดันไปสู่การพัฒนานวัตกรรมร่วมกับบริษัทชั้นนำในประเทศ
โดยได้รับเกียรติจาก คุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคม TIChE มาเป็นผู้กล่าวเปิดงาน มอบโล่เกียรติยศ ประกาศณียบัตร และเงินรางวัลจากทางสมาคมฯ นอกจากการเข้าร่วมซึ่งจำต้องจำกัดจำนวนคน ในงานยังมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของสมาคมฯ รวมทั้งการเข้าร่วมทาง On-line ผ่าน MS Team เพื่อรักษามาตรการ Social Distancing สมาคมฯ ได้เปิดรับข้อเสนอไอเดียในการประกวด ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 ถึง วันที่ 15 ธันวาคม 2564 และประกาศผลการพิจารณารอบกลั่นกรอง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ วันที่ 20 มกราคม 2565 จำนวน 6 ทีม มีดังนี้
(1) ทีม GraBer จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(2) ทีม Black Lights จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(3) ทีม CrystalLyte จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(4) ทีม Waste to Green Energy by CKCL จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
(5) ทีม Chula Decarbon จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(6) ทีม Carbon Slayer จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในรอบชิงชนะเลิศ แต่ละทีมได้นำเสนอในรูปแบบการ Pitching Idea เพื่อให้มีความกระชับ ชัดเจน และตรงกับเกณฑ์ในการให้คะแนน ทั้งตอบคำถาม โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนจำนวน 5 ท่าน เป็นผู้ตัดสิน ดังต่อไปนี้
(1) คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)
(2) ศ. กิตติคุณ ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตฑยสภา
(3) คุณชัยวัฒน์ อนันต์กาญจนกุล ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบ อววน. 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(4) ดร. บุตรา บุญเลี้ยง Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด
(5) คุณ กฤษณ์ คำภาบุตร Vice President: Innovation Strategy and Management บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
ผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ เป็นดังนี้
(1) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม CrystalLyte นำโดย ศ. ดร. จูงใจ ปั้นประณต จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับโล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท
(2) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม Waste to Green Energy by CKCL KKU นำโดย รศ. ดร. กิติโรจน์ หวันตาหลา จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับประกาศนียบัตร พร้อมเงินรางวัล 7,000 บาท
(3) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Chula Decarbon นำโดย รศ. ดร. ภัทรพร คิม จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับประกาศนียบัตร พร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท
อนึ่ง เพื่อสร้างความตระหนักและกระจายองค์ความรู้ เรื่อง Decarbonization ให้กว้างขวางขึ้น ภายในงาน ยังได้จัดให้มีการเสวนา (Panel Discussion) ในเรื่อง “ทิศทางของประเทศไทยในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม” โดยได้รับเกียรติจากท่านคณะกรรมการตัดสิน 4 ท่าน เป็นผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์, ศ. กิตติคุณ ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล, ดร. บุตรา บุญเลี้ยงและ คุณ กฤษณ์ คำภาบุตร โดยมี คุณวิสูตร เดือนกว้าง เลขาสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษจาก ดร. บุตรา บุญเลี้ยง ในหัวข้อ “COP26” และ ศ. ดร. วรงค์ ปรวาจารย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา Bio-Circular-Green economy Technology & Engineering Center (BCGeTEC) ในหัวข้อ “CCUS Technology Development Consortium” อีกด้วย งานครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานแบบ On-site จำนวน 35 คน และมีผู้เข้าชมทาง Facebook Live รวมกับ MS Team จำนวนราว 600 คน จึงเป็นการประสบความสำเร็จดังเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้