ในการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมเคมี บ่อยครั้งก่อนจะทำการแก้ปัญหา มักจะต้องมีการกำหนดสมมติฐานเบื้องต้น และสมมติฐานหนึ่งที่มักกำหนดก็คือ กำหนดให้ระบบอยู่ที่สถานะคงตัว (steady state) หรือก็คือระบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา เช่นไม่มีการสะสมของมวล
สมมติฐานนี้น่าจะเป็นสมมติฐานที่คุ้นชิน จนอาจมองข้ามถึงความหมายไป เอ๊ะ…แล้วถ้าระบบไม่อยู่ที่สถานะคงตัว (unsteady หรือ dynamic state) ล่ะ!!! หมายถึงอะไร
ในบทความนี้เราจะมาทบทวนความเข้าใจถึงความหมายของ ระบบที่สถานะคงตัว (steady state) และสถานะไม่คงตัว (unsteady state) กัน
ในการอธิบายความหมายดังกล่าว เราจะมาดูผ่านตัวอย่างง่ายๆ ของระบบถังน้ำดังรูปที่ 1
สมมติว่าเราสนใจที่จะดูผลของอัตราการไหลของสายน้ำขาเข้า (Fi) ที่มีต่อระดับน้ำ (h) หากเราเริ่มเปิดน้ำให้ไหลเข้าสู่ถังน้ำเปล่าด้วยอัตราการไหลคงที่ค่าหนึ่ง จะเกิดการสะสมของมวลน้ำขึ้นภายในถัง ส่งผลให้ระดับน้ำค่อยๆ เพิ่มขึ้น
แต่เนื่องจากในที่นี้สายน้ำขาออกมีการไหลอย่างอิสระ (เช่น ไม่มีการติดตั้งปั๊มที่ตำแหน่งสายขาออก เป็นต้น) ดังนั้น อัตราการไหลของสายขาออกจากช่องเปิดที่ระดับก้นถังจะขึ้นอยู่กับระดับน้ำภายในถัง ตามกฏการเปลี่ยนรูปของพลังงานศักย์หรือระดับน้ำเป็นพลังงานจลน์หรืออัตราการไหล ส่งผลให้เมื่อเวลาผ่านไปสักพักนึง อัตราการไหลขาออกจะเพิ่มขึ้นและมีค่าเข้าใกล้กับอัตราการไหลขาเข้าได้ และมีผลให้ระดับน้ำลู่เข้าสู่ค่าคงที่ค่าหนึ่งได้เมื่ออัตราการไหลขาเข้าและขาออกเท่ากัน ดังแสดงในรูปที่ 2
จากรูปที่ 2 จะพบข้อสังเกตได้ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกที่ระดับน้ำจะเปลี่ยนแปลงตามเวลา และช่วงหลังที่ระดับน้ำไม่เปลี่ยนแปลงตามเวลา เราจะเรียกช่วงแรกว่าเป็นระบบที่สถานะไม่คงตัว (unsteady state) ซึ่งช่วงนี้จะมีการสะสมของมวลน้ำในระบบ ขณะที่ช่วงหลังเรียกเป็นระบบที่สถานะคงตัว (steady state) ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการสะสมของมวลน้ำในระบบ
หากเราทำการพิจารณาระบบถังน้ำอีกครั้ง ผ่านการเขียนสมการดุลมวลเพื่ออธิบายระบบ จะได้ดังสมการที่ 1
สมการที่ 1 คือสมการดุลมวลในรูปแบบที่มีการคิดพจน์อัตรามวลสะสมหรือสมการดุลมวลที่สถานะไม่คงตัว (unsteady-state) แต่หากมีการกำหนดสมมติฐานว่าให้ระบบอยู่ที่สถานะคงตัว (steady state) จะพบว่าพจน์อัตรามวลสะสมจะเป็นศูนย์และถูกตัดไป และสามารถลดรูปได้เป็นดังสมการที่ 2
หากมองในเชิงรูปแบบสมการที่เกิดขึ้นจะพบว่า สมการที่ 1 อยู่ในรูปของสมการเชิงอนุพันธ์สามัญ (ordinary differential equation) เมื่อทำการแก้ปัญหาเพื่อหาค่า h จะได้คำตอบคือ h = h(t) เป็นฟังก์ชันของเวลา ซึ่งสอดคล้องกับช่วงแรกในรูปที่ 2
เมื่อพิจารณาสมการที่ 2 จะพบว่าอยู่ในรูปของสมการพีชคณิต (algebraic equation) ซึ่งหากทำการแก้ปัญหาเพื่อหาค่า h จะได้คำตอบคือ h = ค่าคงที่ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงหลังในรูปที่ 2
ABOUT THE AUTHOR
วีรยุทธ เลิศบำรุงสุข
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ
มหาวิทยาลัยศิลปากร