[ssba-buttons]
ABET หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ณ เมือง Baltimore มลรัฐ Maryland ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับสมาคมวิชาชีพกว่า 30 องค์กร เช่น AICHE (American Institute of Chemical Engineers) ASCE (American Society of Civil Engineers) และ ASME (American Society of Mechanical Engineers) เป็นต้น ABET ทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระเพื่อการประเมินและรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตรในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีวิศวกรรม นอกจากนั้น ยังสามารถรับรองมาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และหลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบัน ABET ให้การรับรองหลักสูตรจำนวนทั้งสิ้น 4,361 หลักสูตร จาก 850 คณะ/มหาวิทยาลัย ในระดับนานาชาติ 41 ประเทศ
การรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโดย ABET ดังกล่าว เป็นการรับรองในระดับหลักสูตร ที่มีการให้ปริญญาในระดับปริญญาตรี อนุปริญญาและปริญญาโทของสถาบันอุดมศึกษา โดยการรับรองจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของแต่ละสาขาอย่างเข้มข้น โดยหลักสูตรที่ได้รับการรับรองคุณภาพในระบบนี้จะเรียกว่า Programmatic Accreditation ซึ่งเป็นการประกาศรับรองว่าหลักสูตรมีการบริหารจัดการและบรรลุวัตถุประสงค์ตามแนวทาง Outcome Based Education และมีความสัมฤทธิ์ด้านการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ในตัวผู้เรียนและผลลัพธ์การศึกษาของหลักสูตรแบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์ นอกจากนี้ Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ยังเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่เป็นพันธมิตรกับองค์กรด้านการรับรองมาตรฐานการศึกษาของนานาประเทศ โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง/บันทึกความเข้าใจเพื่อให้การยอมรับร่วมกันและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาในระดับนานาชาติ สำหรับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้แก่หลักสูตรการศึกษานอกประเทศสหรัฐอเมริกา จะทำได้ต่อเมื่อการดำเนินงานไม่ขัดต่อนโยบายและหลักการขององค์กรพันธมิตรและข้อตกลงที่ได้จัดทำร่วมกัน โดยหลักสูตรการศึกษานอกประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประสงค์จะขอรับการรับรองจาก ABET จะต้องจัดทำเอกสารรับทราบให้มีการดำเนินงานในการขอรับการรับรองมาตรฐานจาก ABET (Request for Acknowledgement: RFA) โดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพภายในประเทศนั้นๆ ลงนามเพื่อให้การยินยอมและรับทราบการดำเนินงานก่อนการสมัครขอรับการประเมิน
รองศาสาตราจารย์ ดร.ภาวนี นรัตถรักษา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ ประไพนัยนา
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย รองศาสาตราจารย์ ดร.ภาวนี นรัตถรักษา ประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ ประไพนัยนา หัวหน้าภาควิชา ได้เสนอหลักสูตรเข้าเป็นหนึ่งในหลักสูตรนำร่องในโครงการ “การส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ประจำปี พ.ศ. 2562” และนำไปสู่การลงนามความร่วมมือใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ภายในปี พ.ศ. 2565” ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 การนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) ได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC) ในการดำเนินโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตรสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษานำร่องของประเทศไทยให้มีมาตรฐานคุณภาพระดับโลก และสามารถผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะเทียบเคียงได้ในระดับนานาชาติตามข้อตกลงปฏิญญาสากล Washington Accord 28 ประเทศ และสามารถส่งหลักสูตรสมัครเข้าขอรับการรับรองคุณภาพด้วยระบบ Programmatic Accreditation จาก ABET ภายในปี พ.ศ. 2565
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มจพ. มีการกำหนดเป้าหมายและแผนการดำเนินงานเพื่อการขอรับรองมาตรฐาน ABET ควบคู่ไปกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจาก TABEE หรือ Thailand Accreditation Board of Engineering Education ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานหลักสูตรของสภาวิศวกรของประเทศไทย แผนการเตรียมความพร้อมในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาแสดงได้ดังรูปที่ 1 ในการเตรียมความพร้อมของหลักสูตรนั้น ภาควิชาได้กำหนดให้หลักสูตรมีการดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Outcome Based Education ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 และได้มีการพัฒนาคณะกรรมการบริหารหลักสูตรให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านการกำกับมาตรฐานการจัดการศึกษา รวมถึงพัฒนาคณาจารย์ของภาควิชาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกได้ใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน หรือ IQA ในรูปแบบ AUN QA หรือ ASEAN University Network Quality Assurance จนถึงปีการศึกษา 2562 จากนั้นภาควิชาวิศวกรรมเคมี จึงนำเสนอขอรับมติสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในจาก AUN QA เป็นการใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ ABET EAC โดยในการจัดการศึกษาของหลักสูตรนั้น ภาควิชาฯ ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงศิษย์เก่า ผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิภายในและภายนอก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือ Industrial Advisory Board (IAB) ของภาควิชาฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถ รวมถึงทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในการประกอบวิชาชีพ จากนั้น หลักสูตรของภาควิชาจึงได้รับการตรวจประเมิน IQA โดยผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาจากสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2562 และ 2563 หลังจากนั้น ภาควิชาฯ ได้รับแจ้งจากคณะผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา จาก New Jersey Institute of Technology รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ จันทร์คง จาก Case Western Reserve University และ ศาสตราจารย์ ดร. รัตติกร ฮิวเวท จาก Texas Tech University ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าหลักสูตรมีความพร้อมในการยื่นสมัครขอรับการประเมินขั้นต้น หรือการประเมิน Readiness Review Report จากนั้น ภาควิชาฯ ได้ยื่นสมัครขอรับการประเมินเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ผลการประเมินจาก ABET EAC แจ้งว่าหลักสูตรมีความพร้อมในการสมัครเข้ารับการประเมินแบบเต็มรูปแบบหรือแบบลงพื้นที่ (Campus Visit) ได้ทันทีในรอบการประเมิน ABET พ.ศ. 2564-2565 และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ทางภาควิชาฯ จึงเสนอต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ TABEE สภาวิศวกร เพื่อการสมัครขอรับการประเมินเต็มรูปแบบกับ ABET EAC
รูปที่ 1 แผนการเตรียมความพร้อมในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมเคมี มจพ.
พ.ศ. 2561-2565
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ทาง ABET EAC ได้ตอบรับการสมัครขอรับรองมาตรฐานหลักสูตรและได้แต่งตั้งคณะผู้ประเมินประกอบด้วย ABET Team Chair 1 ท่าน และ Program Evaluators 2 ท่าน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ท่าน และมหาวิทยาลัยในประเทศบาห์เรน 1 ท่าน ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภาควิชาฯ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในหลักสูตรเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ประเมินหรือ ABET Team ผ่านทางเอกสารหลักฐานการจัดการศึกษาเชิงประจักษ์ และนำเสนอความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการศึกษาทั้งด้านห้องปฏิบัติการ ห้องเรียน รวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัย เสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 และได้สนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมตามการร้องขอของ ABET Team จนถึงกำหนดวันตรวจเยี่ยมสถาบันการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ หรือ Virtual Review Visit เมื่อวันที่ 29 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ทาง ABET Team Chair และ Program Evaluators ได้แจ้งผลการประเมิน Exit Statement อย่างไม่เป็นทางการว่า หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหรือ Chemical Engineering Undergraduate Program ของภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ผ่านการประเมินคุณภาพหลักสูตรในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ตามเกณฑ์มาตรฐาน ABET ของคณะกรรมการรับรอง Engineering Accreditation Commission หรือ EAC อย่างไม่เป็นทางการเรียบร้อยแล้ว และผลการรับรองอย่างเป็นทางการจะได้รับในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ต่อไป
ทั้งนี้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาใดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานรับรองคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอย่าง ABET จะช่วยยกระดับสมรรถนะของบัณฑิตวิศวกรที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร ให้สามารถทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานรวมทั้งข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพในระดับสากล เป็นที่ยอมรับและสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้ในทุกประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างความร่วมมือทางวิชาการของภาควิชาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัย กับภาคีเครือข่ายต่างประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักศึกษาทั้งในประเทศและนักศึกษาต่างชาติสนใจเข้ามาศึกษาในหลักสูตรเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาไทยมีโอกาสในการเดินทางไปแลกเปลี่ยนและศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาระดับโลกได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่มีความเป็นพลเมืองโลก หรือ Global Citizenship อย่างสมบูรณ์
โอกาสนี้ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มจพ. ขอขอบพระคุณผู้บริหารและคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาจากสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ TABEE สภาวิศวกร และ Industrial Advisory Board (IAB) ของภาควิชาฯ ที่ให้การสนับสนุนในทุกมิติกับภาควิชาฯ เพื่อให้เป้าหมายสำคัญประสบความสำเร็จลุล่วงด้วยดี สุดท้ายนี้ภาควิชาฯ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาควิชาวิศวกรรมเคมี ของมหาวิทยาลัยอุดมศึกษาในประเทศไทย ในการดำเนินงานการขอรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาทั้งจาก ABET และ/หรือ TABEE เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานการศึกษาของสาขาวิศวกรรมเคมีให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.che.kmutnb.ac.th หรือ https://www.facebook.com/che.kmutnb