โดย ทะเล เพชรรัตน์
จากเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ซึ่งนั่นก็คือเหตุการณ์การรั่วไหลของสารเคมี และเกิดการระเบิดขึ้นที่โรงงานของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัดนั้น โดยเหตุการณ์เริ่มต้นประมานตี 3 ของวันที่ 5 ก.ค. 2564 โดยปรากฏภาพในโลกโซเชี่ยลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคลิปบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดจากที่เกิดเหตุ หรือแม้กระทั่งภาพควันไฟที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้ามาตั้งแต่ช่วงเช้า และ ภาพของผู้คนที่อพยพออกจากที่เกิดเหตุจนเกิดเหตุการณ์รถติดบนท้องถนนอย่างหนักหน่วง ต้องยอมรับว่าในภาวะของวิกฤตโควิด 19 ที่กำลังรุมเร้าประชาชนชาวไทยจนเกิดอาการที่เรียกว่า นักมวยที่กำลังโดนต่อยเข้ามุม พอมาเจอเหตุการณ์นี้เข้าไป ก็แทบจะเรียกได้เลยว่า น่าจะเป็นหมัดที่ทำให้คนไทย แทบจะต้องล้มลงไปนอนให้กรรมการนับกันเลยทีเดียว ผมในฐานะแอดมินของเพจ สาระวิดวะกับนายทะเล ต้องขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกท่าน ขอให้ทุกคนปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และเชื่อลึกๆว่า พลังของคนไทย จะช่วยกันทำให้พวกเรากลับมายืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้อีกแน่นอน
วันนี้ผมอยากจะมาชวนทุกท่านคุยกันถึงเหตุการณ์นี้ในมุมของวิศวะความปลอดภัยกันบ้าง เนื่องจากภาพข่าวที่ออกในช่วงบ่ายจนถึงเย็น เราจะเริ่มเห็นข่าวว่ามีการใช้เฮลิคอปเตอร์บินเพื่อไปโปรยสารโฟมสำหรับดับไฟ หรือแม้กระทั่งภาพที่หน่วยงานจากทาง NPC S&E นั้นได้นำเอาหุ่นยนตร์ดับเพลิงเข้าไปใช้ช่วยในการดับไฟ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้เลย เรามาวิเคราะห์กันสักหน่อยว่าทำไมไฟมันถึงดับยากดับเย็นนัก
อนึ่ง ถ้าคนเคยเรียนเกี่ยวกับ Fire Engineering มา ทุกคนคงทราบเป็นอย่างดีว่า ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภท Class B หรือไฟจากสาร Hydrocarbon หรือน้ำมันเชื้อแพลิงนั้น จะไม่สามารถใช้น้ำดับได้ โดยหลักการทั่วไปในการออกแบบคือ เราต้องออกแบบระบบดับเพลิงเพื่อใช้ในการ cool down โครงสร้างอาคารหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันการถล่มลงเพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามของไฟ โดยพยายามตัดจุดรั่วไหลของเชื้อเพลิงแล้วประวิงสถานการณ์จนเชื้อเพลิงที่รั่วออกมานั้นติดไฟจนหมด จึงจะเรียกว่าสามารถควบคุมเพลิงได้ ทีนี้ก็จะมีการดับเพลิงโดยการใช้สารเคมีเช่น โฟม โดยปกติ การใช้โฟมดับเพลิงนั้นก็คือการโปรยสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายโฟม โดยส่วนใหญ่จะเป็นพวกกรดไขมันเพื่อไปปกคลุมพื้นผิวของสารที่ติดไฟเพื่อป้องกันการสัมผัสกับอากาศ ทำให้ Triangle of fire ไม่ครบ 3 นั่นเอง โดนวิธีนี้ จะทำได้ดี ถ้าสารที่ติดไฟนั้น อยู่ในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัดเช่นอยู่ในบ่อกักเก็บ (impounding pond, bund) หรือ อยู่ในตัวถังที่ใช้กักเก็บ (primary containment) นั่นเอง แต่ในกรณีนี้ จากที่ทางแอดมินดูรูปพื้นที่เหตุการณ์ คาดการณ์ได้ว่า ไม่ได้มีการออกแบบพื้นที่สำหรับรองรับการหกรั่วไหล หรือ การทำระบบระบายเพื่อลดความรุนแรงของการหกรั่วไหล อีกทั้งยังมีโครงสร้างอาคารที่พังถล่มลงมาทับ ทำให้เกิดการติดไฟจากข้างใต้แล้วน้ำดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปถึงตัวเชื้อเพลิงที่หกรั่วไหลได้
ทีนี้เรามารู้จักเจ้าสาร Styrene Monomer กันสักหน่อย เจ้าสารตัวนี้โดยธรรมชาติเป็นสารไวไฟมาก (NFPA class 3) และยังมีความเป็นพิษในระดับที่เกือบสูง (NFPA class 2) แถมยังทำปฏิกิริยาได้ง่ายอีก ทำให้ภาษาอังกฤษต้องเรียกมันว่า Bad Ass กันเลยทีเดียว เจ้า Styrene Monomer นั้นมี Flash Point อยู่ที่ 31 C นั่นหมายความว่า สภาพอากาศบ้านเราในเวลานี้ที่อุณหภูมิเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ราวๆ 32 – 40 องศาในตอนกลางวันนั้น จะทำให้การหกรั่วไหลของเจ้า Styrene จากสภาพของของเหลวกลายเป็นสภาพของไอระเหยหรือเรียกภาษาเทคนิคว่า Vapor cloud ซึ่งไอเจ้า Vapor cloud นี้นั้น ในทางเทคนิคการออกแบบระบบดับเพลิง เป็นสิ่งที่พวกเรานักออกแบบกลัวที่สุด เพราะนี่คือสภาพที่พร้อมติดไฟของสาร แค่เจอประกายไฟนิดเดียว ก็สามารถสร้างแรงระเบิดและตามมาด้วยความร้อนจากไฟได้อย่าง่ายดาย สารตัวนี้ยังละลายตัวกับน้ำได้ต่ำ ซึ่งหมายความว่า พอเราฉีดน้ำลงไปแล้ว เจ้าสารตัวนี้ก็จะแบ่งชั้นกับน้ำ ทำให้เกิดเป็นไฟลอยอยู่บนน้ำได้อีก บอกตรงๆเลยว่า จัดการยากมากเลยทีเดียว
จากเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ทางแอดมินพอจะแกะมาจากหลายๆแหล่ง เนื่องจากว่ามีถังเก็บสารเคมีขนาด 20,000 ลิตร อีก 2 ถังอยู่ด้านใน การที่จะนำเอาเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่นั้น ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากๆ ส่วนการโปรยโฟมจากเฮลิคอปเตอร์นั้น ต้องบอกตรงๆว่า คงไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะวิธีการทำงานของโฟมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศัยการคืบของโฟมไปคลุมบนพื้นผิวจนทั่ว หากเราโปรยโฟมไปทีละน้อย ก็จะทำให้เปลืองโฟมไปซะเปล่าๆ
ทีนี้เราควรจะทำอย่างไร อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ตอนนี้มีการนำเอาหุ่นยนต์ดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่แล้ว อีกทั้งไม่แน่ใจว่าทางบริษัท NPC S&E ได้ขนเอา Big Gun หรือปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถฉีดน้ำได้ทีละมากกว่า 12,000 ลิตรเข้าไปในพื้นที่หรือไม่ โดยการจะควบคุมไฟนั้น จะต้องเริ่มโจมตีจากด้านเหนือลม โดยจะต้องใช้หุ่นดับเพลิงนั้น โจมตีเป็นรัศมีวงกว้างด้วยโฟมดับเพลิงเข้าไปพร้อมๆกัน จากนั้น จึงค่อยๆ ประชิดเข้าไปถึงต้นเพลิง จึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้
แต่หากว่ากรณีข้างต้นนั้น ไม่สามารถทำได้ ตอนนี้เราก็คงทำได้เพียงหวังว่า ถังเก็บสารเคมี 2 ถังข้างในจะเกิดการหกรั่วไหลของสารออกมา แล้วติดไฟที่พื้นแทน ก่อนที่จะเกิดเป็น BLEVE หรือการระเบิดจากแรงดันของ vapor cloud ภายในถัง ซึ่งหากเกิดขึ้น เราก็คงจะได้เห็นภาพการระเบิดที่ร้ายแรงมากแน่นอน
ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ขอให้ปลอดภัยและสามารถเอาชนะไฟครั้งนี้ได้
น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ แต่หัวใจของคนไทยชนะทุกสิ่ง
ABOUT THE AUTHOR
คุณทะเล เพชรรัตน์
Lead Process Safety Engineer : SCG Chemical และผู้ก่อตั้งเพจให้ความรู้ Process Safety แก่วิศวกร “สาระวิดวะกับนายทะเล”