รางวัลด้าน Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

     ผลงานที่ได้รับรางวัล Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement ซึ่งเป็นนวัตกรรมโดดเด่นทางวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์อันเป็นที่ประจักษ์ในวงการอุตสาหกรรมและหรือสังคมในวงกว้าง

ปี พ.ศ.2566

รางวัล TIChE Gold Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงานไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา

รางวัล TIChE Silver Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงาน การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ลายนิ้วมือสารไบโอมาร์คเกอร์เพื่อสืบหาแหล่งกำเนิดของน้ำมันดิบและก้อนน้ำมันดิน
โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     วิธีการวิเคราะห์ลายนิ้วมือสารไบโอมาร์คเกอร์เพื่อสืบหาแหล่งกำเนิดของน้ำมันดิบและก้อนน้ำมันดินเป็นวิธีวิเคราะห์สาร Biomarker ในน้ำมันดิบ คราบน้ำมันดิบ ก้อนน้ำมันดิบ (tar ball) หรือผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่นๆ ทำให้สามารถระบุแหล่งกำเนิดของคราบน้ำมันดิบและก้อนน้ำมันดิบที่ถูกปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมในปัญหาคราบน้ำมันดิบบริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศได้ โดยทีมงานได้พัฒนาวิธีการเตรียมตัวอย่างให้สามารถลดเวลาลงจาก 24 ชั่วโมงเหลือเพียง 5 ชั่วโมง และได้พัฒนาการใช้เครื่อง Two-dimensional Gas
Chromatograph with Time of Flight Mass Spectrometer detector
ในการแยกสาร
ทำให้ผลการวิเคราะห์มีความแม่นยำสูง โดยได้ถูกนำไปใช้จริงเมื่อช่วงต้นปี 2565
และปี 2566 ที่มีการรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวไทย นอกจากนี้วิธีวิเคราะห์นี้ยังมีศักยภาพในการวิเคราะห์สารที่มาจากธรรมชาติอื่น เช่น น้ำมันปาล์มดิบ เพื่อพิสูจน์แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าหรือลักลอบนำเข้ามาในประเทศอีกด้วย

รางวัล TIChE Bronze Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงาน ระบบผลิตออกซิเจนจากอากาศ
ณ สถานที่ โดย ศ.ดร.จันทรพร ผลากรกุล ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

       ระบบผลิตออกซิเจนจากอากาศ ณ สถานที่ เป็นระบบผลิตออกซิเจนที่มีค่าควาบริสุทธิ์ในช่วง 92 ± 2 %v/v จากอากาศ ณ สถานที่การใช้งานที่มีกำลังการผลิตออกซิเจนตามความต้องการของผู้ใช้และสามารถทำงานต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมง โดยมีต้นทุนการผลิตออกซิเจนลดลง 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับออกซิเจนแบบบรรจุถังและลดลง 1.7 เท่าเมื่อเทียบกับออกซิเจนเหลว ผลงานนี้เป็นนวัตกรรมได้รับรองมาตรฐาน Medical Electronic

Equipment IEC 60601-1 และ IEC 60601-2 สำหรับการใช้งานทางการแพทย์และได้ถูกนำไปใช้จริง ณ โรงพยาบาลสนามเอราวัณสาม กทม. ในช่วงสิงหาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 และ ณ โรงพยาบาลกลาง กทม. ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2565 ถึงปัจจุบัน 

      นอกจากนั้นระบบผลิตออกซิเจนนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ในการใช้งานด้านอื่น เช่น ได้ถูกนำไปใช้ร่วมกับเครื่องผลิตโอโซนเพื่อเป็นต้นแบบระบบบำบัดน้ำเสียอาคารเพื่อรีไซเคิลเป็นน้ำเติมหอผึ่งเย็น ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการทำให้สามารถประหยัดค่าน้ำประปาได้ถึง 3 ล้านบาทต่อปี และได้ถูกนำไปใช้ร่วมกับเครื่องผลิตโอโซนเพื่อเป็นต้นแบบระบบบำบัดน้ำดิบ ณ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดชลบุรีทำให้เกิดการรีไซเคิลน้ำในสวนอุตสาหกรรม ทำให้สามารถประหยัดค่าน้ำดิบได้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี อีกด้วย

ปี พ.ศ.2565

รางวัล TIChE Gold Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงานไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา

รางวัล TIChE Silver Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงานไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา

รางวัล TIChE Bronze Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงาน เครื่องสกัดด้วยของเหลวความดันสูง
โดย ผศ.ดร.เมธี สายศรีหยุด ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     ผลงานเครื่องสกัดด้วยของเหลวความดันสูงเป็นผลงานประดิษฐ์เครื่องสกัดสำหรับสกัดสารสำคัญจากวัสดุทางการเกษตร เครื่องสกัดทำงานที่ความดันสูง ทำให้การสกัดด้วยตัวสกัดที่มีอุณหภูมิสูงได้ จึงทำให้การสกัดทำได้ภายในเวลาที่รวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิคการสกัดอื่นๆ และลดปริมาณตัวทำละลายที่ต้องใช้ ในการสกัด
    เครื่องสกัดได้รับการออกแบบ สร้าง และพัฒนาโดยผู้วิจัยเริ่มตั้งแต่ขนาดเซลล์สกัดขนาด 400 มิลลิลิตร และ ขยายขนาดขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงขนาด 12 ลิตร

     เครื่องสกัดของ ผศ.ดร.เมธี ได้ถูกใช้งานสำหรับงานวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการสร้างเครื่องสกัดให้กับคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนี้ผู้วิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดเครื่องสกัดให้ใช้งานได้ทั้งสำหรับตัวทำละลายเอทานอล และ คาร์บอนไดออกไซด์วิกฤติยิ่งยวด ในเครื่องเดียวกัน ซึ่งทำให้สกัดสารสำคัญได้ทั้งที่มีขั้วและไม่มีขั้ว เครื่องสกัดด้วยของเหลวความดันสูงนี้มีศักยภาพในการขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมสกัดสารสำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากผลผลิตทางการเกษตรและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าจากวัสดุทางการเกษตรไทยได้

ปี พ.ศ.2564

รางวัล TIChE Gold Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงาน CUre Air sure mask 
โดยทีมสร้างนวัตกรรม PPE จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     ผลงาน Cure Air sure mask เป็นผลงานนวัตกรรมการพัฒนาหน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูง ตัวหน้ากากผลิตจากพลาสติกซึ่งมีการออกแบบให้เหมาะสมกับโครงหน้า ทำให้สวมใส่สบายหายใจสะดวก สามารถทำความสะอาดตัวหน้ากากเพื่อใช้งานต่อเนื่องได้โดยเปลี่ยนแผ่นกรองเมื่อหมดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดปริมาณขยะติดเชื้อ  ผลงานดังกล่าวถูกพัฒนาสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้นด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งคณาจารย์นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม ในการผสมผสานองค์ความรู้จากศาสตร์หลายแขนง

อาทิเช่น เทคโนโลยีการกรองประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีด้านพอลิเมอร์และพลาสติก รวมทั้งศาสตร์ในการออกแบบและทักษะประสบการณ์ในการขึ้นรูปชิ้นงานจนบังเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ชัด ซึ่งในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทีมสร้างนวัตกรรม PPE นี้ ได้มีการผลิตผลงานดังกล่าวเพื่อนำไปช่วยเหลือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขกว่าหลายหมื่นชิ้น ทั้งนี้ปัจจุบันผลงานดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการด้านการรับรองความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเตรียมพัฒนาต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

รางวัล TIChE Silver Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงาน Bio-based shape memory polymers from Polybenzoxazine alloys โดย ศ.ดร.ศราวุธ ริมดุสิต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     ผลงาน Bio-based shape memory polymers from Polybenzoxazine เป็นผลงานนวัตกรรมทางด้านพอลิเมอร์จำรูปร่างจากพอลิเมอร์ตระกูลเบนซอกซาซีนอัลลอย ซึ่งพัฒนาจากองค์ความรู้ด้านพอลิเมอร์ผสมและพอลิเมอร์คอมพอสิท  ซึ่ง ศ.ดร.ศราวุธ ได้คิดค้นและทำการศึกษาพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผลงานให้มีคุณสมบัติการใช้งานที่กว้างขึ้นหรือประยุกต์ใช้ในงานเชิงวิศวกรรมขั้นสูง

สำหรับผลงานชิ้นนี้ ศ.ดร.ศราวุธ ได้ทำการยกระดับผลงานขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการนำวัสดุทางธรรมชาติ เช่น น้ำมันจากพืชชนิดต่างๆมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์พอลิเมอร์จำรูปร่างแทนสารตั้งต้นจากน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งมีการวางเป้าหมายนำพอลิมเมอร์ฐานชีวภาพจำรูปร่างดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มงานทางด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ ผลงานดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายแง่มุม ทั้งประโยชน์ทางด้านวิชาการซึ่งถือเป็นการขยายองค์ความรู้และสร้างเทคโนโลยีใหม่ ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากการสร้างนวัตกรรมที่เป็นผลงานของประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุทางธรรมชาติในประเทศมากขึ้น ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศ อีกทั้งประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในการช่วยลดมลพิษจากการใช้วัสดุทางธรรมชาติทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม

รางวัล TIChE Bronze Award for Chemical Engineering Innovation & Outstanding Achievement

ผลงานไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา