โดย Nattapong Pongboot
HIGHLIGHTS
- ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์อีกครั้งในปี 2024 นี้
- น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ที่ได้มาตรฐานใหม่นี้จะทำให้รถยนต์ ปลดปล่อยมลพิษ รวมทั้งฝุ่นละอองและสารก่อมลพิษอื่นๆ น้อยลง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์
โดยปกติแล้วน้ำมันเบนซิน หรืออีกชื่อหนึ่งคือแก๊ซโซลีน (Gasoline) และดีเซล (Diesel) ที่ใช้กันตามท้องถนนทั่วไปจะต้องมีคุณสมบัติที่ได้ตามมาตรฐานของประเทศนั้นๆ ซึ่งในบริบทของประเทศไทย มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงคือมาตรฐานของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานที่ใช้อยู่คือยูโร 4 (Euro IV) ซึ่งถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2011
โดยทั่วๆไปแล้ว ข้อกำหนดด้านคุณสมบัตินั้นจะถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงมีอัตราการปลดปล่อยมลพิษหลังการเผาไหม้ที่ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง (Particulate Matter, PM) คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide, CO) สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon, HC) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญมากๆก็คือสารประกอบจำพวกซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Oxide, SOx) และสารประกอบจำพวกไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxide, NOx) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดฝนกรดในชั้นบรรยากาศได้ตามภาพที่ 1
โดยมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็มีข้อกำหนดด้านคุณลักษณะที่สำคัญคือ ปริมาณกำมะถัน (Sulfur) ในน้ำมันเบนซินและดีเซลที่ต้องมีค่าน้อยกว่า 50 ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก (ppm, part per million)
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ เช่น
- น้ำมันดีเซลต้องมีปริมาณสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซับซ้อน (Poly Aromatic Hydrocarbons, PAHs) น้อยกว่า 11% โดยน้ำหนัก เพื่อให้มีการเผาไหม้ที่หมดจดมากขึ้น และปลดปล่อยมลพิษสู่อากาศน้อยลง
- น้ำมันเบนซินต้องมีปริมาณสารเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) น้อยกว่า 1.1% โดยน้ำหนัก
ประเทศไทยและมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ใหม่
เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย ทางกรมธุรกิจพลังงานได้มีการประกาศข้อกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลักๆจากมาตรฐานยูโร 4 ดังนี้
- ปริมาณกำมะถันในน้ำมันเบนซินและดีเซลต้องต่ำกว่า 10 ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก จากเดิม 50 ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก
- น้ำมันดีเซลต้องมีปริมาณสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซับซ้อน (Poly Aromatic Hydrocarbons, PAHs) น้อยกว่า 8% โดยน้ำหนัก จากเดิม 11% โดยน้ำหนัก
โดยข้อกำหนดคุณลักษณะใหม่นี้อ้างอิงตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปที่เรียกว่ายูโร 5 (Euro V) แต่ก็ยังไม่เหมือนกับมาตรฐานดั้งเดิมทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในไทย
ซึ่งมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่นี้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันอีกด้วย
ผลกระทบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาด
จากที่กล่าวไปในตอนก่อนๆว่าด้วยการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การที่เราจะลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเบนซินและดีเซลนั้น จะต้องมีการใช้ ไฮโดรเจน (Hydrogen) และตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ที่มีราคาแพง นอกจากนี้ยังต้องใช้อุณหภูมิสูงมากๆอีกด้วย
นั่นหมายความว่า การที่เราจะทำให้น้ำมันเบนซินและดีเซลมีปริมาณกำมะถันที่ต่ำกว่าเดิม ในกรณีนี้คือจาก 50 ไปเป็น 10 ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก จะส่งผลให้ต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดแน่นอน และนั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางกรมธุรกิจพลังงานยังไม่บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 เต็มรูปแบบ และมีการกำหนดมาตรฐานใหม่ของประเทศไทยขึ้นมาเองโดยเฉพาะ เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะมีต่อภาคประชาชนและภาคเอกชนจากการที่ต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงเกินไปนั่นเอง
วันนี้ก็ขอจบไปแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าทุกท่านคงได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย สำหรับเพื่อนๆที่ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ในรายละเอียดสามารถเข้าไปดูต่อได้ใน website ของกรมธุรกิจพลังงานได้เลยครับ
ABOUT THE AUTHOR
Nattapong Pongboot
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอิสระ ผู้เขียนมีประสบการณ์กว่า 10 ปี ในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี กับบริษัทชั้นน้ำทั้งในไทยและต่างประเทศ และยังเป็นวิทยากรให้กับ http://www.chemengedu.com/
อ้างอิง (Reference)
- น้ำมันเบนซิน
http://elaw.doeb.go.th/document_doeb/TH/673TH_0001.pdf
http://elaw.doeb.go.th/document_doeb/TH/692TH_0001.pdf
- น้ำมันดีเซล