สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย
ผ่านฉลุยมติปรับปรุงข้อบังคับสมาคมฯให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน นายกสมาคมฯ เผยเตรียมยกระดับงานใหญ่สมาคมฯไตรมาส 1 ปี 2565
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15:00 -16:00 น. สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี พ.ศ. 2564 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยคุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมฯ ศ.ดร. ปราโมช รังสรรวิจิตร เหรัญญิก และ คุณวิสูตร เดือนกว้าง เลขาสมาคมฯ
ในวาระดิถีนี้ คุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปีหน้าของสมาคมฯ ว่า สมาคมฯกำลังเตรียมและดำเนินการเพื่อยกระดับงานเด่นประจำปีของสมาคมฯ จากเดิมที่เป็นเพียงการประชุมวิชาการประจำปีหรืองาน TIChE (ทีเช่) Conference ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 30 ครั้ง (30th TIChE Conference 2021) โดยจะยกระดับและขยายให้เป็นงานใหญ่ระดับสากลที่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายวิศวกรเคมีและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นในปี 2565 กล่าวคือจะมีการจัดประชุมสัมมนา แบบคู่ขนาน (Parallel Session) กับ 31st TIChE Conference 2022) ซึ่งเป็นการประชุม สัมมนาด้านวิชาการ และการศึกษาเป็นหลัก แต่ในปี 2565 จะเพิ่มเติมในส่วนของการประชุม สัมมนาที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์โดยตรงมากขึ้น เช่น บริษัทเจ้าของเทคโนโลยี (Licensor) บริษัทชั้นนำด้านการออกแบบและก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction, EPC) ตลอดจน การจัด National Chemical Engineering Job Fair นอกจากนี้ยังจะมีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชุมชนนักปฏิบัติหรือ Community of Practice (COP) ด้านวิศวกรรมความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Engineering) และ ด้านดิจิทัล เทคโนโลยีอัจฉริยะ (Digital Technology for Smart Industry) ตังนั้น งานปี 2565 นี้จึงมีชื่อว่า Thailand National Chemical Engineering & Chemical Technology (TNChE 2022) ซึ่งมีกำหนดการจัดในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ในรูปแบบ Hybrid (On-site ผสม On-line) เป็นระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-18 มีนาคม พ.ศ.2565 โดยมีเป้าหมายดึงดูดผู้เข้าร่วมงานทั้งจากในและต่างประเทศประมาณ 500 คน มีการออกบูธนิทรรศการ 50 บูธ (Exhibition Booth) ส่วนสถานที่จัดงาน On-site ขณะนี้กำหนดไว้เป็นโซนภาคตะวันออก คือตัวเมืองพัทยา เนื่องจากมีความพร้อมในด้านสถานที่และระยะทางไม่ไกลจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมในโซนภาคตะวันออกของประเทศ
อนึ่ง ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2564 ได้มีการแถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2564 ซึ่งทางสมาคมได้มีการจัดตั้ง workstream ต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนงานในด้านต่างๆของสมาคมฯ ให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกสมาคมฯ วิศวกรเคมีและแวดวงวิชาชีพวิศวกรรมเคมี ของประเทศ ดังต่อไปนี้
1. Student/Young Engineer Engagement & Activities
- เพื่อสร้างกิจกรรมให้นักเรียนนักศึกษาเข้าใจในงานด้านวิศวฯเคมี เช่นโครงการ Virtual Plant Tour ประจำปีการศึกษา 2564 ที่มีกำหนดการจัดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือน เมษายน 2565 รวมกว่า 20 ครั้ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ 6 กลุ่มบริษัท ดังต่อไปนี้
- กลุ่มบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด
- กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- กลุ่มบริษัท ไทย ออยล์ จำกัด (มหาชน)
- กลุ่มบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ
- กลุ่มบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
- เพื่อสร้างโอกาสในการหางานให้กับนักศึกษาที่จะจบการศึกษาโดยเชื่อมโยงกับภาคอุตฯ
2. TIChE Academia
- National Chemical Engineering Design Contest : การจัดประกวดการออกแบบทางวิศวกรรมเคมีแห่งชาติ ปี 2564-2565
- TIChE-Body of knowledge : เพื่อสร้างให้บัณฑิตทางวิศวกรรมเคมีของประเทศไทยมีสมรรถนะที่ทัดเทียมกับบัณฑิตวิศวกรรมเคมีในสากล โดยการระดมความคิดเห็นจากภาควิชาวิศวกรรมเคมีทั่วประเทศไทย
- เพื่อพัฒนาคู่มือรายวิชาหลักวิศวกรรมเคมี: เพื่อสร้างมาตรฐานหลักสูตรวิชาวิศวกรรมเคมีของประเทศไทย
3. Industrial/ Academia Collaboration Promotion
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในด้านอุตสาหกรรมและด้านการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ
4. TIChE Outstanding and Professional Chemical Engineering Award
- เพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ให้กับบุคคลากรทางด้านวิศวกรรมเคมี ในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม
5. TIChE Connect & Communities
- เพื่อสร้างและส่งเสริมให้เกิด Community ของกลุ่มคนทางด้านวิศวกรรมเคมีสาขาต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ Best Practice
6. TIChE Academy
- เพื่อจัดทำหลักสูตรและเปิดคอร์สการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพ และยกระดับขีดความสามารถทางด้านวิชาชีพวิศวกรรมเคมี
7. TIChE/COE Cooperation
- เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสมาคมฯ กับ สภาวิศวกร
8. TIChE Conference & Seminars
- เพื่อจัดการประชุมและสัมมนา เพื่อเป็นเวทีให้วิศวกรเคมีได้มาแสดงความรู้ความสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้ และติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเคมี
9. Membership Engagement
- เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกและดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสมาคมฯ โดยในปี 2564 ได้เพิ่มจำนวนสมาชิกจาก 222 คนเป็น 1,391 คน หรือประมาณ 630% จากปีที่แล้ว
10. Social Media & Communication
- เพื่อสร้างการสื่อสารผ่าน social media technology และให้ข้อมูล ข่าวสาร ต่างๆ ของสมาคมฯ ข่าวสารเทคโนโลยีในด้านวิศวกรรมเคมี ให้กับสมาชิก
11. Revenue and Funding
- เพื่อจัดสรรเงินสนับสนุน การดำเนินงาน และกิจกรรมต่างๆของ สมาคมฯ โดยจากการผลการดำเนินงาน และกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯ ได้ทำให้สมาคมฯมียอดเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 100% จากปีที่แล้ว
อีกวาระที่สำคัญในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี คือการลงมติผ่านร่างแก้ไขข้อบังคับสมาคมฯ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น อาทิ เช่น
- มติแก้ไขการประชุมใหญ่สามัญประจำปีให้สามารถจัดการประชุมได้ทั้งในรูปแบบปกติหรือผ่านทางระบบออนไลน์ และสามารถทำการ e-voting, e-Signature ตามประกาศของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) หรือประกาศของหน่วยราชการที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย
- มติการเพิ่ม”ประเภทสมาชิกแบบทั่วไป” เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจในด้านวิศวกรรมเคมี สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านวิศวกรรมเคมี และเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก รวมถึงทำให้สมาคมฯ เป็นที่รู้จักมากขึ้น
มติการปรับปรุงระเบียบค่าลงทะเบียนสมาชิกเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับปรุงระเบียบค่าลงทะเบียนโดยไม่ต้องรอรอบประชุมใหญ่สมาคมฯ และเพื่อให้บุคคลที่เข้ามาร่วมทำคุณประโยชน์แก่สมาคมได้รับการชดเชยในส่วนของค่าลงทะเบียน เป็นต้น